ประวัติมูลนิธิฯ
มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เดิมชื่อมูลนิธิเขาใหญ่สงเคราะห์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2529 มีพลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละเป็นประธานกรรมการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหสือ การศึกษาของเด็กผู้ยากจนที่อาศัยอยู่บริเวณเขาใหญ่ โดยมีเงินทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนเงิน 700,000.- บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) ซึ่งได้จากการหาทุนโดยการจัดกิจกรรมเดินวิ่งการกุศล จัดขึ้นโดยสมาคมนั่งวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพียงครั้งเดียวคือการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจนเป็นจำนวนเงิน 100,000.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
ล่วงมาถึง พ.ศ. 2540 นายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ กรรมการก่อตั้งมูลนิธิเขาใหญ่สงเคราะห์ได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับท่าน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ถึงเจตนารมย์ที่จะปกป้องอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นมรดกของชาติ โดยจะก่อตั้งมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิเขาใหญ่สงเคราะห์ จึงได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2540 และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มูลนิธิเข้าไปมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นมรดกของชาติ รวมทั้งช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยท่านพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับเป็นประธานกรรมการของมูลนิธิฯ พร้อมทั้งเชิญผู้ทรงเกียรติและทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นกรรมการมูลนิธิ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและชื่อมูลนิธิ เป็นมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯเพื่อให้ชัดเจนและเหมาะสมกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้ บทบาทมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับการอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่
แม้ว่ามูลนิธิฯ จะได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ด้วยความตั้งใจของกลุ่มคนทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่นรอบเขาใหญ่ ได้คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้มูลนิธิฯ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้มีประสิทธิภาพและหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำลังทำงานเพื่ออนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน
บทบาทในเบื้องต้นของมูลนิธิ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต อันได้แก่ลูกจ้าง ชั่วคราวรายวันซึ่งปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บทบาทต่อมาของมูลนิธิ ได้แก่ การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในท้องถิ่น ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่ป่าเขาใหญ่อย่างเป็นการถาวรในอนาคต นอกจากนี้มูลนิธิจะได้ทำการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ที่มีผลต่อการอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทั้งในรูปแบบของข่าวสารข้อมูล สื่อสารสนเทศ ให้แก่สาธารณชนให้ได้รู้และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆระดับ ให้ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่ต่อไป
|
|